เมื่อเร็วๆนี้พันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว)เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย (Official Visit) การหารือกับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีด้านการคมนาคมขนส่ง ไทยยินดีสนับสนุนนโยบายของ สปป.ลาวในการเปลี่ยนให้เป็นประเทศ land-linked ผ่าน4 โครงการ ได้แก่ 1. การเชื่อมต่อรถไฟลาว-จีนกับระบบรางของไทย
2. การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ)3. การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี – สาละวัน) และ 4. การพัฒนาเส้นทางหมายเลข 12 (R12) (แขวงคำม่วน (นครพนม) – นาเพ้า)
ทั้งนี้เพื่อให้การหารือระดับผู้นำมีผลในทางปฎิบัติ ล่าสุด รถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีอุดรธานี สถานีหนองตะไก้ สถานีนาทา และสถานีหนองคาย เพื่อติดตามความก้าวหน้าแผนการดำเนินโครงการก่อสร้างเชื่อมทางรถไฟ จากสถานีหนองตะไก้ ถึงพื้นที่ ICD นิคมอุสาหกรรมอุดรธานี และแผนพัฒนาย่านสถานีหนองคาย รวมทั้งแผนพัฒนาย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า (CY) สถานีนาทา สำหรับเพิ่มการอำนวยความสะดวกระบบขนส่งโลจิสติกส์ รองรับการเติบโตทางการค้า การลงทุนของไทย และสปป.ลาวในอนาคต
จิรุตม์ วิศาลจิตร ประธานกรรมการรฟท. กล่าวว่า โครงการก่อสร้างทางรถไฟเพื่อใช้เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า เพื่อสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การท่องเที่ยวและพัฒนาพื้นที่ จากสถานีหนองตะไก้ ไปยังนิคมอุสาหกรรมอุดรธานี ระยะทาง 3.702 กิโลเมตร(กม.) มีการเสนอให้สร้างทางรถไฟไปจนถึงเขตพื้นที่ของโครงการ ระยะทางประมาณ 2.802 กม. ส่วนที่เหลือโครงการจะลงทุนสร้างทางรถไฟ รองรับการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาต่อไป
ส่วนที่สถานีนาทา และสถานีหนองคายซึ่งมีการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างประเทศ ไทย - สปป.ลาว ซึ่งปัจจุบันมีการขนส่งสินค้าหลากหลายชนิด โดยรฟท.ได้มีการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีหนองคาย และ CY สถานีนาทา รวมถึงการเพิ่มขบวนรถสินค้า ทั้งรถจักร และรถพ่วง
“เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศ ในการสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง”
ตลอดจนรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าข้ามแดนไทย - สปป.ลาว ที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง สปป.ลาว - จีน
ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ด่านตรวจพืชหนองคายมีมีสินค้านำเข้า-ส่งออก ที่หลากหลายไม่เพียงแต่ทุเรียน ในอนาคตหากรถไฟเชื่อมกันเสร็จจะเป็นอีกด่านหนึ่งที่รองรับการส่งออกได้มากขึ้น และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกสินค้า
ส่วนในขั้นตอนของการตรวจปล่อยทุเรียนส่งออกไปยังประเทศจีน ไม่มีปัญหาความล่าช้า เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรได้อำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการโดยมีห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ สามารถตรวจและเคลื่อนย้าย ทำให้ย่นระยะเวลาลง รวมถึงนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยในการปฎิบัติงาน
ทั้งนี้ ด่านตรวจพืชหนองคายได้เปิดให้บริการ เพื่อให้เป็นด่านนำเข้าและส่งออกผลไม้ระหว่างไทยและจีน ตามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ไทยผ่านประเทศที่สาม สู่สาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีช่องทางส่งออกเพิ่มขึ้น
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) ให้ชัดเจนและครอบคลุมมาตรการป้องกันแพร่การระบาดโควิด19 โดยมุ่งเน้นให้สินค้าเกษตรและอาหารมีความปลอดภัย เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค ที่จะส่งผลกระทบทางการค้าระหว่างกันให้น้อยที่สุด
“เมื่อก่อนส่งออกสินค้าทางรถบรรทุกไปสปป.ลาวได้แห่งเดียวต่อมามีรถไฟก็ส่งไปลาวและจีนได้ ทำให้มีปริมาณการส่งออกสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟไตรมาส1ปี2565 เพิ่มขึ้นถึง63.92%เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน”
ความร่วมมือที่เกิดขึ้นกำลังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามองซึ่งจะมาเปลี่ยนพื้นที่“แลนด์ล็อค เป็น แลนด์ลิงค์”ที่สร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้ทุกฝ่ายที่อยู่ในโครงข่ายการเชื่อมโยงนี้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.bangkokbiznews.com
|